วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

มาป้องกันโรคอ้วนกันเถอะ



มาป้องกันโรคอ้วนกันเถอะ






          โรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน ปัจจุบันกำลังระบาดอยู่ทั่วโลกทั้งใน ประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนา มีรายงานว่าประมาณ 55% ของประชากรผู้ใหญ่ในประเทศ สหรัฐอเมริกามีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กทุก 4 คน จะเป็นเด็กที่มีภาวะ โภชนาการเกิน 1 คน สำหรับประเทศไทยเองก็พบว่ามีประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ในทุกกลุ่มอายุ

           จากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ว่าเด็กอ้วนมักเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน โดยที่เด็กโตอ้วน จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากกว่า จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพและโภชนาการใน ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 10-20% ของทารกที่อ้วนจะยังคงอ้วนในวัยเด็ก 40% ของเด็ก ที่อ้วนจะยังคงอ้วนในวัยรุ่น และ 75-80% ของวัยรุ่นที่อ้วนจะเป็นผู้ใหญ่อ้วน การป้องกันโรคอ้วน จึงนับเป็นงานที่จำเป็นและเร่งด่วน และควรป้องกันมิให้เป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็ก เพราะการป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนเท่ากับเป็นการลดจำนวนประชากรผู้ใหญ่อ้วน





            โรคอ้วนเมื่อเกิดขึ้นกับใครมักทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจได้ เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ ขาโก่ง เหนื่อยง่าย ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียด หรือมีปัญหาทางอารมณ์ และซึมเศร้า นอกจากนี้ในเด็กที่เป็นโรคอ้วนยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ดังนั้น โรคอ้วนจึงมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัวและสังคม ซึ่งนับเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัว การป้องกันการระบาดของโรคอ้วนจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

            สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมก็นับว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อย ค่านิยมของพ่อแม่ที่คิดว่าเด็กอ้วนสมบูรณ์เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารักน่าเอ็นดู รวมทั้งการสนับสนุนและต้องการให้ลูกเจริญอาหาร รับประทานให้มากและทานให้หมด ก็มีส่วนสนับสนุนให้เด็กอ้วนด้วย นอกจากนี้ลักษณะอาหารที่เด็กและครอบครัวเลือกรับประทาน ตลอดจนรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กอ้วนมากขึ้น จากการศึกษาและทบทวนเอกสารวิชาการสามารถสรุปลักษณะพฤติกรรมการบริโภค และวิถีชีวิต ตลอดจนลักษณะการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เด็กอ้วนหรือมีภาวะโ ภชนาการเกิน ได้ดังนี้
           วัยทารก เด็กที่ได้รับนมผสมจะมีโอกาสเกิดภาวะโภชนาการเกินมากกว่าเด็กที่ได้รับนมแม่ถึง 20% มารดาที่เลี้ยงทารกด้วยนมผสมมักให้ทารกดูดนมบ่อยและปริมาณมากเกินความต้องการ ซึ่งพบว่าเด็กที่ได้รับขวดนมใส่ปากทุกครั้งที่ร้องไห้หรือโยเย มีแนวโน้มที่จะมีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้มีรายงานว่าลักษณะการดูดนมของทารกมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย ทารกที่ดูดนมแรง เร็ว และแต่ละมื้อมีระยะเวลาในการดูดนมนานมีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าถึง 21% เมื่อเด็กอายุ 2 ปี เด็กที่ได้รับอาหารเสริมเร็วก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกิน




           วัยเด็กเล็ก เด็กวัยนี้นับเป็นวัยที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะโภชนาการเกินได้ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการเพียงพอที่จะเลือกอาหารที่มีคุณภาพให้กับร่างกาย พบว่าเด็กวัยนี้ ประมาณ 1 ใน 3 มักเลือกรับประทานอาหารที่ตัวเองชอบ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเองก็มักจัดหาอาหารที่เด็กชอบให้ทานเป็นประจำ อาหารที่เด็กวัยนี้ชอบมักเป็นอาหารที่มีรสหวาน รวมทั้งขนมกรุบกรอบ ไอศครีม คุ้กกี้ น้ำอัดลม น้ำหวาน ลูกอม นอกจากนี้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมักใช้ขนมหรืออาหารที่เด็กชอบเป็นรางวัลแก่เด็ก หรือเป็นสิ่งโน้มน้าวให้เด็กเชื่อฟังและปฏิบัติตาม โดยทั่วไปลักษณะบริโภคนิสัยของเด็กวัยนี้มักสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคของครอบครัว ถ้าครอบครัวใดชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง พลังงานสูง เด็กมักชอบและได้รับอาหาร ประเภทนั้นด้วย

          เด็กวัยเรียน จากการศึกษาพบว่าอาหารที่เด็กวัยนี้บริโภคส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว ก๊วยเตี๋ยว ขนมปัง เด็กวัยนี้ชอบรับประทานอาหารที่ปรุงโดยวิธีการทอดน้ำมัน รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น ไก่ทอด พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ อาหารมื้อหลักของเด็กวัยนี้ คืออาหารมื้อเย็นและมักมีปริมาณมากกว่ามื้ออื่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กมีเวลามากที่สุด นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ชอบรับประทานอาหารว่าง รวมทั้งอาหารว่างหลังมื้อเย็นหรือก่อนนอน โดยอาหารว่างของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ขนมกรุบกรอบ ขนมปัง ขนมหวาน น้ำแข็งใส ไอศครีม น้ำอัดลม ซึ่งจากลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวของเด็กวัยนี้ ทำให้เด็กมีโอกาส อ้วนได้ง่าย เด็กวัยนี้ยังได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณาต่างๆ เช่น โทรทัศน์ โปสเตอร์ รวมทั้งตัวแบบอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นอาหารหรือของกินเล่นบางอย่างโฆษณาโดยใช้เด็กเป็นตัวแบบ หรือดาราที่เด็กชื่นชอบซึ่งทำให้เด็กๆ ถูกโน้มน้าวมากขึ้น และต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เด็กวัยนี้ยังถูกชักจูงได้ง่ายจากรูปลักษณะภายนอกของอาหารที่พ่อค้าแม่ค้าทำให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยที่ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของอาหารเหล่านั้นคือแป้ง ไขมัน และเกลือ ซึ่งส่งเสริมให้เด็กอ้วนได้ง่ายและยังอาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง





             เด็กวัยรุ่น เด็กวัยนี้มักนิยมรับประทานอาหารตามแฟชั่น อาหารส่วนใหญ่ที่เด็กวัยนี้นิยมรับประทาน ได้แก่ อาหารจานด่วน อาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ อาหารว่างของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักเป็นขนมขบเคี้ยว โดนัท คุ้กกี้ น้ำอัดลม น้ำหวาน ซึ่งทำให้อ้วนได้ง่าย เด็กวัยนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่กับเพื่อน และเมื่อมีกิจกรรมใดๆ ก็มักใช้อาหารเป็นสื่อ ดังนั้นพฤติกรรมการบริโภคของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มเพื่อน รวมทั้งโฆษณาและสื่อต่างๆ

            จะเห็นว่าลักษณะพฤติกรรมการบริโภคและบริโภคนิสัยของเด็กรวมทั้งลักษณะการเลี้ยงดูมีส่วนส่งเสริมให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้ง่าย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดจนการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของคนปัจจุบันสุขสบายขึ้น มีเครื่องทุ่นแรงและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว เครื่องล้างจาน รวมทั้งอุปกรณ์สร้างความบันเทิง และผ่อนคลายความเครียด ได้แก่ โทรทัศน์ วิดีโอ ซีดี ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งล้วนแต่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ทำให้ใช้พลังงานลดลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวอาจเข้าใจผิดซื้อหาเกมส์คอมพิวเตอร์ หรือวิดีโอเกมส์ต่างๆ มาให้เด็กเล่น เพื่อต้องการให้เด็กเล่นอยู่กับบ้านและอยู่ในสายตา จึงมีส่วนทำให้เด็กมีกิจกรรมการออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวลดลง ซึ่งผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ถึง 5.3 เท่า ดังนั้น จึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ให้ลูกได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น