วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

การศึกษาวิจัยเรื่องการเป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินขนาด




       การเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนคือ การควบคุมพลังงาน (Energy regulation) ที่ขาดความสมดุลระหว่างการรับและใช้พลังงาน (Energy intake และ energy expenditure) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 

          พฤติกรรมการบริโภค ได้แก่ การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมัน น้ำตาล น้ำอัดลม ขนมหวาน และขนมกรุบกรอบ

         พฤติกรรมการใช้พลังงาน ได้แก่ การมีวิถีชีวิตที่ใช้พลังงานน้อยเพิ่มขึ้น เช่น การชมโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ และการใช้ยานพาหนะ

ปัจจัยส่วนบุคคลเชิงชีวภาพ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม อัตราเมตาโบลิซึมพื้นฐาน (basal metabolic rate) และความแตกต่างในการตอบสนองต่อสารอาหาร

          ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ค่านิยมของสังคมต่อวิถีชีวิต และพฤติกรรมของอุตสาหกรรมอาหาร
ทั้ง 4 กลุ่มปัจจัยนี้ มีองค์ประกอบที่ทั้งปรับเปลี่ยนได้ ปรับเปลี่ยนได้ยาก และปรับเปลี่ยนไม่ได้ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มิได้วิเคราะห์ถึงกลุ่มปัจจัยส่วนบุคคลเชิงชีวภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ หรือปรับได้ยาก

  

นำมาจาก มุสลิมไทยโพสต์




http://www.youtube.com/watch?v=YA08epMfQRI

เบาหวาน...โรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน


โรคอ้วน… อีกสาเหตุสำคัญของเบาหวาน

          หากเอ่ยถึงปัญหาสุขภาพที่ใครหลายๆ คนไม่อยากพบเจอ ‘โรคอ้วน’ คงถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะปัญหาของโรคอ้วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสวยความงามแต่เเพียงอย่างเดียว ยังมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จนถือได้ว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ร้ายแรงอีกโรคหนึ่งก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นหากคุณไม่อยากเผชิญกับโรคร้ายที่ว่า มาทำความรู้จักและเตรียมพร้อมรับมือกันไว้ก่อนดีกว่าไหมคะ

          เป็นที่น่าตกใจว่าประชากรโลกประมาณ 60 – 70% กำลังเผชิญปัญหา โรคอ้วน ซึ่งทำให้ก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์และโรคเบาหวาน ที่น่าเป็นห่วงคือ มีประชากร ทั่วโลกเป็น โรคเบาหวานกว่า 200 ล้านคน และหากไม่มีการป้องกันที่ดีคาดกัน ว่าในปี ค.ศ.2025 จะมีประชากรที่เป็น โรคเบาหวานเพิ่มจำนวนเป็น 300 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 60% ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการเพิ่มของผู้เป็นเบาหวานมากถึง 3,000 รายต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและทุพพลภาพสูงจนน่าตกใจ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานส่วนใหญ่เนื่องจากการขาดการออกกำลังกายและรับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจ คนที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน 2– 4 เท่า นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น ตาบอด ไตวาย การสูญเสียขา แผลเป็นที่รักษายาก ตลอดจนเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วย 8 ใน 10 รายที่ เป็นเบาหวานเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

         ปัญหาสุขภาพของประชากรไทยส่วนหนึ่งซึ่งนับวันจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือโรคอ้วนและส่งผลให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย เช่น เบาหวาน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก./ตร.เมตร จะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า โดยเฉพาะผู้ที่มีลักษณะอ้วนชนิดลงพุงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเซลล์ไขมันบริเวณพุงจะทำให้เกิดการดื้อต่ออินซูลิน

         มีการศึกษาพบว่าเซลล์ไขมันในคนอ้วนมีการหลั่งฮอร์โมน “อะดิโปเนคติน” ซึ่งมีผลต่อการดื้อของอินซูลิน ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีระดับ ของอะดีโปเนคตินในเลือดต่ำกว่าคนปกติที่มีน้ำหนักตัวเท่ากันและขณะเดียวกันคนอ้วนก็มีปริมาณปริมาณอะดีโปเนคตินน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ นอกจากนี้ในเซลล์ไขมันยังมีการหลั่งฮอร์โมนตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเบาหวานและภาวะการอักเสบของหลอดเลือดอีกหลายชนิด ซึ่งทำให้คนอ้วนมีภาวะดื้ออินซูลิน อันจะมีผลให้คนอ้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและการเกิดโรคของหลอดเลือดมากขึ้น 

         การรับประทานอาหารในคนอ้วนมักจะเป็นอาหารที่มีแคลอรี่สูงและเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ต่ำ ประกอบกับคนอ้วนมักไม่ค่อยออกกำลังกายหรือใช้พลังงานน้อย หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานโดยเฉพาะคนอ้วนสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคให้ช้าลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ลดปริมาณอาหารหวานหรืออาหารที่มีแคลอรี่สูง โดยเพิ่มอาหารที่มีกากใยในปริมาณมากแทน และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยพยายามลดน้ำหนักตัวให้ได้มากกว่าร้อยละ 7 จะสามารถชะลอการเกิดเบาหวานได้ถึงร้อยละ 50 วิธีการนี้ได้ผลดีกว่าการใช้ยาเบาหวานที่ใช้ได้ผลเพียง 30 เปอร์เซ็นต์
         สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานและมีน้ำหนักตัวเกินนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะเฉียบพลันและในระยะยาวรวมถึงให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงต้องมีการควบคุมเบาหวาน ทั้งระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมภาวะอื่นที่พบร่วมด้วย โดยการควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในคนอ้วนนั้นต้องควบคุมอาหารเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและต้องคำนึงถึงปริมาณพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันเพื่อควบคุมน้ำหนัก อาหารที่ควรบริโภคในแต่ละมื้อต้องครบทั้ง 5 หมู่แต่ควรระวังเรื่องไขมันชนิดอิ่มตัวที่จะไปเพิ่มคลอเรสเตอรอลในเลือดและอาหารประเภทข้าวและแป้งซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นอยู่กับอาหารกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังควรรับประทานผักและผลไม้ แต่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด รวมถึงออกกำลังกายจะช่วยลดระดับน้ำตาล ความดันโลหิตและคลอเรสเตอรอล ทำให้เกิดความผ่อนคลาย อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการทำงานของอินซูลินอีกด้วย

        โรคเบาหวานนั้นในระยะแรกอาจยังตรวจไม่พบเนื่องจากยังไม่มีอาการแสดงออกหรือไม่ทันได้สังเกตตัวเอง แต่เมื่อตรวจพบก็เข้าขั้นที่ตับอ่อนเริ่มมีความผิดปกติและมีภาวะดื้อต่ออินซูลินแล้ว ทำให้โอกาสที่จะกลับเป็นปกติจึงมีน้อย ดังนั้นจึงควรระมัดระวังตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อเป็นการป้องกันโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง...



ผลกระทบจากโรคอ้วน

      โรคเบาหวาน คนอ้วนเล็กน้อยจะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า คนอ้วนปานกลางจะมีโอกาสเป็น โรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 5 เท่า และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในคนที่อ้วนมากๆ




วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

การรักษาและป้องกันโรคอ้วน



การรักษาโรคอ้วนโดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย



           จากข้อมูลที่นำเสนอแล้ว ชี้ใหัเห็นว่าพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคอ้วน ปัจจัยสำคัญทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือพลังงาน ทั้งหมดที่บริโภคและการออกกำลังกาย ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมเพื่อการลดน้ำหนักตัวลงได้ การรักษาเพื่อให้น้ำหนักตัวลดลงนั้นด้องทำให้เกิดดุลลบของพลังงาน คือ ปริมาณอาหารที่บริโภคเข้าไปเพื่อให้พลังงานนั้นต้องน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ ร่างกายจึงสามารถดึงเอาไขมันที่สะสมไว้มาเผาผลาญเป็นพลังงาน ดังนั้นหลักในการบำบัดโรคอ้วนคือ การควบคุมอาหารและ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การควบคุมอาหาร

           การควบคุมอาหารเพื่อการลดน้ำหนักในโรคอ้วนมีหลักการสำคัญดังนี้
ลดปริมาณพลังงานที่บริโภค -- คนที่กินอาหารมากต้องกินให้น้อยลง ซึ่งต้องปฏิบัติให้ได้เกินอยู่จึงจะลดลง คนปกติน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น ๑ กก. ถ้าได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น ๒๒ กิโลแคลอรี/กก. น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ๑๐ กก. ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ ๒๒๐ กิโลแคลอรี ดังนั้นคนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ๑๐ กก. ก็ต้องลดปริมาณอาหารที่บริโภคลงวันละ ๒๒๐ กิโลแคลอรี
ควรประเมินปริมาณพลังงาน -- ที่ผู้ป่วยบริโภคอยู่ก่อนมารับการลดน้ำหนัก ในรายที่ให้บริโภคอาหารน้อยลงกว่าเดิมวันละ ๕๐๐ กิโลแคลอรี น้ำหนักตัว จะลดลงได้ประมาณ ๐.๔๕ กก./สัปดาห์ ถ้าปฏิบัติได้จริงในช่วง ๑๐ เดือน จะลดได้ประมาณ ๑๘ กก. ดังนั้นจึงต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการลดน้ำหนักต้องใช้เวลา ไม่แนะนำให้ลดน้ำหนักโดยวิธีอดอาหาร เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี น้ำหนักลดได้จริงเมื่อใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่พอผู้ป่วยกลับบ้านจะอ้วนกลับมาใหม่ ถ้าหากจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ป่วยบริโภคอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่า ๑,๐๐๐ กิโลแคลอริ/วัน. ต้องระวังว่า ผู้ป่วยอาจเกิดการขาดวิตามินและเกลือแร่ได้ เพื่อความปลอดภัยในช่วงลดน้ำหนัก จึงควรให้ผู้ป่วยกินวิตามินและเกลือแร่ในรูปเม็ดยาที่ให้ปริมาณตามความต้องการของร่างกาย
จัดสัดส่วนของพลังงานอาหารที่บริโภคให้เหมาะสม -- เมื่อกินอาหารให้น้อยลง จะต้องระมัดระวังว่าอาหารนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการและยังมีความเอร็ดอร่อยที่ผู้ป่วยกินอาหารนั้นได้ การจัดสัดส่วนของพลังงานอาหารที่บริโภคให้เหมาะสม มีส่วนสำคัญทำให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ
โปรตีน -- ควรได้ร้อยละ ๒๐ ของพลังงานที่ได้รับ โปรเทอินกินต้องมีคุณภาพ เช่น ไข่, เนื้อสัตว์, ถั่วเหลือง, นม ในทางปฏิบัติเน้นให้ผู้ป่วยกินเนื้อไก่ เนื้อปลา ที่ไม่มีไขมันให้มากขึ้น เพื่อให้ได้โปรเทอินเพียงพอ เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนั้น ร้อยละ ๗๕ เป็นไขมัน ส่วนอีกร้อยละ ๒๕ เป็นโปรเทอิน เมื่อลดน้ำหนักตัวจะสูญเสียโปรเทอินด้วย
ไขมัน -- ควรจำกัดการบริโภคไขมันไม่ให้เกิน ร้อยละ ๓๐ ของพลังงานที่ได้รับ ทั้งนี้เพราะไขมันเป็นสารให้พลังงานสูงสุดถึง ๙ กิโลแคลอริ/กรัม นอกจากนี้ร่างกายยังมีขีดจำกัดในการเผาไขมันเป็นพลังงาน ควรใช้น้ำมัน ถั่วเหลืองในการปรุงอาหาร เพราะจะทำให้ได้รับกรดไขมันจำเป็นครบถ้วน คือ ทั้งกรดไลโนเลอิค และกรดแอลฟาไลโนเลอิค นอกจากนี้การบริโภคกรดไลโนเลอิค ในปริมาณ ร้อยละ ๗-๑๐ ของพลังงานที่ได้รับยังมีผลลดระดับ โคเลสเตอรอล ส่วนไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ
คาร์โบไฮเดรต -- ข้าว แป้งและน้ำตาลล้วนเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงาน ควรงดบริโภคน้ำอัดลมและน้ำหวาน ควรใช้น้ำตาลทราย ในการปรุงอาหารและเครื่องดื่มให้น้อยที่สุด เพราะอาหารเหล่านี้ให้แต่พลังงาน ถ้ายังติดในรสหวานก็ให้ใช้ แอสปาร์เทม ซึ่งเป็นสารรสหวานแต่ไม่ให้พลังงานแทนน้ำตาล สำหรับข้าวให้กินได้ แต่ถ้ากินมากต้องลดปริมาณลง
กินผักและผลไม้ -- ทุกมื้ออาหารควรมีผัก และผลไม้เพราะอาหารสองประเภทนี้นอกจากให้วิตามินและเกลือแร่ยังให้ใยอาหารด้วย ซึ่งทำให้ท้องไม่ผูก และมีความรู้สึกอิ่มไม่หิวบ่อย สำหรับผลไม้ไม่ควรกินพวกที่มีรสหวานจัดเช่น องุ่น ละมุด ทุเรียน ถ้ากินให้กินเป็นครั้งคราวเท่านั้น
การออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ -- การลดน้ำหนักจะได้ผลดีต่อเมื่อผู้นั้นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนต้องค่อยทำค่อยไป นับตั้งแต่เดินก็เป็นวิธีออกกำลังกายอย่างหนึ่ง การออกกำลังกายในแต่ละช่วงควรใช้เวลาประมาณ ๑๕-๔๕ นาที โดยทำต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งรู้สึกว่าเหนื่อยจึงพัก ในวันหนึ่งๆ ถ้ามีเวลาออกกำลังกายประมาณ วันละ ๑ ชั่วโมงจะดีมาก
การที่ผู้ป่วยจะลดน้ำหนักได้มากเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ป่วยและต้องติดตามนานพออย่างน้อย ๕ ปี จึงจะบอกได้ว่าผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักหรือไม่

การป้องกันโรคอ้วน

          ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรสนใจน้ำหนักตนเอง ควรรู้ว่าดัชนีความหนาของร่างกายสามารถใช้ประเมินโรคอ้วนทั้งตัวได้ ส่วนอัตราส่วนเส้นรอบเอวต่อ เส้นรอบตะโพกสามารถใช้ประเมินโรคอ้วนลงพุงได้ นำมาตรการทั้งสองนี้เฝ้าระวังตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วน หรือถ้าเกิดแล้วต้องรีบปรับตัวโดยบริโภคอาหารให้ น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการบริโภคไขมันร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องให้ความสนใจน้ำหนักตัวของผู้ป่วย กระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการและการออกกำลังกาย ต่อสุขภาพ และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อการบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการป้องกันโรคอ้วน
         โรคอ้วนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังประสบอยู่ ชาวไทยในเขตเมืองก็ประสบปัญหาโรคอ้วนเช่นเดียวกัน ดังนั้นการร่วมกันรณรงค์ป้องกันโรคอ้วน เสียแต่บัดนี้ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการลดปัญหาสาธารณสุขเนื่องจากโรคอ้วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต






ที่มา:วิชัย  ตันไพจิตร

          http://www.healthcarethai.com

ปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคอ้วน






  • การรับประทานอาหาร หากรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ จะให้น้ำหนักเกินโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน และแป้งสูงซึ่งมักจะพบในอาหารจานด่วน
  • ประเภทของอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นกลูโคส sugars, fructose,น้ำหวาน เครื่องดื่ม ไวน์ เบียร์ อาหารเหล่านี้จะดูดซึมอย่างรวดเร็ว และทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเป็นปริมาณมาก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นสาเหตุของโรคอ้วน
  • ภาวะที่ร่างกายเผาพลาญพลังงานน้อย ผู้ชายจะมีกล้ามเนื้อมากว่าผู้หญิง กล้ามเนื้อจะเผาพลังงานได้มากดังนั้นผู้หญิงจึงอ้วนง่ายกว่าผู้ชายและลด น้ำหนักยาก
  • โรคต่อมไร้ท่อ เช่นต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยจะมีน้ำหนักเกินเนื่องจากร่างกายเผาผลาญอาหารน้อย ลง โรค cushing ร่างกายสร้างฮอร์โมน cortisol มากทำให้ร่างกายมีการสะสมไขมัน ฮอร์โมนนี้อาจจะมาจากร่างกายสร้างเอง หรือจากลูกกลอน ยาแก้หอบ ยาชุด หรือร่างกายสร้างขึ้นเนื่องจากเนื้องอกต่อมหมวกไต 
  • จากยา ยาบางชนิดทำให้ความอยากอาหารเพิ่ม เช่นยาคุมกำเนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า tricyclic antidepressant,phenothiazine ยาลดความดัน beta-block ยารักษาเบาหวาน ยาคุมกำเนิด ยา steroid
  • กรรมพันธุ์ จะพบว่าบางครอบครัวจะอ้วนทั้งหมดซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม เช่นคนที่เป็นโรคขาด leptin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งไปยังสมองทำให้เรารับอาหารน้อยลง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิด
  • จากวัฒนธรรม การรับประทานอาหารและความเป็นอยู่  วัฒนธรรมการดำรงชีวิตและอาหาร ซึ่งเห็นได้ว่าบางชาติจะมีน้ำหนักเกินเนื่องจากอาหารของชาตินั้นนิยมอาหารมันๆ
  • ความผิดปกติทางจิตใจ ทำให้รับประทานอาหารมาก เช่นบางคนเศร้า เครียด แล้วรับประทานอาหารเก่ง
  • การดำเนินชีวิตอย่างสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวดมากมาย และขาดการออกกำลังกาย มีรถยนต์ มีเครื่องทุ่นแรง มีทีวีรายการดีๆให้ดู มีสื่อโฆษณาถึงน้ำหวาน น้ำอัดลม เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนตั้งแต่ในวัยเด็ก  
  • การดื่มสุรา 
  • การสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 2-3 กิโลกรัม ของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่
  • โรคอ้วนในวัยรุ่น ชีวิตที่มีความสบาย ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดประเภท และไม่จำกัดปริมาณเหล่านี้ทำให้เกิดโรคอ้วน เมื่ออ้วนก็ทำให้ออกกำลังได้ไม่เต็มที่ พบว่าวัยรุ่นหรือเด็กที่มีน้ำหนักเกินมักจะเกิดโรคอ้วนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ น้ำหนักของผู้ชายจะเพิ่มจนคงที่เมื่ออายุประมาณ 50 ปี ส่วนผู้หญิงน้ำหนักจะเพิ่มจนอายุประมาณ 70 ปี
  • โรคอ้วนในเด็ก เซลล์ไขมันในร่างกายจะมีช่วงที่เจริญเติบโตอยู่สองช่วงคือวัยเด็กและวัยรุ่น กรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนอให้แต่ละคนมีเซลล์ไขมันไม่เท่ากัน คนอ้วนจะมีเซลล์ไขมันมาก การอ้วนในเด็กจะมีปริมาณเซลล์ไขมันมากทำให้ลดน้ำหนักยาก สานโรคอ้วนในผู้ใหญ่เกิดจากเซลล์ไขมันมีขนาดใหญ่



     
             ลองมาพิิจารณาตัวเราเองว่าเข้าข่ายอ้วนหรือไม่อ้วนแล้วหรือยัง และจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด นปัจจุบัน ทางการแพทย์ยอมรับว่า การใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index , BMI ) โดย ค่า น้ำหนักตัว / ความสูง ยกกำลังสอง

             ในการวิเคราะห์ว่า บุคคลใดอ้วนหรือไม่นั้น ให้ความถูกต้องแม่นยำ และใช้ได้ดีกับบุคคลทุกเพศทุกวัย โดยค่า BMI





ข้อมูลจาก :
http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/endocrine/obesity/cause.htm
http://www.ecarddesignanimation.com/home/disease_0.php

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ความอ้วนกับโรคหัวใจ



          โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และยังเป็นสาเหตุของปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอ้วน ยิ่งอ้วนมากยิ่งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่ม พบว่าผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก/ตารางเมตร จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูงดัชนีมวลกาย 25-29 กก/ตารางเมตรก็จะเกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

โรคหัวใจ




โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน...

         คือ อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็น โรคหัวใจ พบบ่อยในคนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี ทั้งที่ความจริงอาจเป็นโรคหัวใจในระยะแรกเริ่ม มีดังนี้


    1. เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่เราออกกําลังกาย หัวใจจะทํางานหนักมากขึ้น ปกติเวลาที่เราออกกำลังกายไปถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อย แต่ในรายของคนที่มีอาการเริ่มต้นของ โรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากออกกำลังกาย แล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเป็นข้อบ่งชีได้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ

2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ โดยมากอาการนี้ จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย หรือใช้แรงมากๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า อาจเป็น โรคหัวใจ

3. ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึกอีกด้วย อาการภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ หากไม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

4. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจขยับไปถึง150 -250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน

5. เป็นลมหมดสติ คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจเป็น โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นลมไปชั่วคราวได้ ทั้งนี้ การเป็นลมหมดสติ มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง ทำให้ขณะล้มลงศีรษะมีโอกาสฟาดพื้น และเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากกว่า ดังนั้น ใครที่เป็นลมบ่อยๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็น โรคหัวใจ ได้

6. หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของ โรคหัวใจ มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่สังเกตได้จากร่างกาย...

     นอกจากความผิดปกติชนิดเฉียบพลันแล้ว อาการบ่งชี้ที่สังเกตได้จากร่างกายของเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่เตือนให้รู้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์โดยด่วนได้เช่นกัน เป็นต้นว่า...

1. ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป ซึ่งหากเกิดขึ้นกับใคร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คโดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เวลานี้คุณอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวโดยที่ไม่รู้ตัว

2. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทางเดินของเลือดในหัวใจห้องขวากับห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการผสมของเลือดแดงกับเลือกดํา และทําให้ปริมาณของออกซิเจนในเลือดมีปริมาณน้อยลง

โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่ตรวจพบขณะตรวจร่างกาย...

      การไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ ได้ เช่น ตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน หรือเอ็กซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลังลง ทำให้ห้องต่างๆ ของหัวใจขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ป้องกัน โรคหัวใจ อย่างไรดี...

      ข้อมูลที่ได้บอกไปข้างต้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เรามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจ เท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยว่าเราเป็น โรคหัวใจ หรือไม่ คือแพทย์ โรคหัวใจ เท่านั้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนดีที่สุด

สำหรับคนที่หัวใจยังเป็นปกติ เรามีข้อแนะนำในการดูแลหัวใจ (ก่อนสายเกินไป) ดังนี้ค่ะ

สังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจปกติดีหรือไม่ เจ็บหน้าอก ใจสั่นบ่อยๆ หรือเปล่า เป็นต้น

ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพจิตแจ่มใสแล้ว ยังช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นอีกด้วย

ดูแลสุขภาพใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ พยายามไม่เครียด รู้จักควบคุมอารมณ์ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความเครียดและความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจเต้นแรง และทำงานหนักขึ้น

รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย และหันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น

ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายที่อาจคาดไม่ถึง เช่น โรคหัวใจ ซึ่งแฝงอยู่ในตัวเราตั้งแต่เนิ่นๆ

... ยามใดที่ร่างกายอ่อนล้า เราหยุดพักให้หายเหนื่อยได้... แต่ยามใดที่หัวใจอ่อนแรง มันก็ยังคงเดินต่อไป ทำงานต่อไป... เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่า "หัวใจ" คนเราไม่เคยหยุดพัก อย่าลืมดูแลรักษามันไว้ให้ดีๆ นะคะ เพือจะได้ไม่เป็น โรคหัวใจ ค่ะ 


ข้อมูลจาก http://health.kapook.com/view28.html

มาป้องกันโรคอ้วนกันเถอะ



มาป้องกันโรคอ้วนกันเถอะ






          โรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน ปัจจุบันกำลังระบาดอยู่ทั่วโลกทั้งใน ประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนา มีรายงานว่าประมาณ 55% ของประชากรผู้ใหญ่ในประเทศ สหรัฐอเมริกามีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กทุก 4 คน จะเป็นเด็กที่มีภาวะ โภชนาการเกิน 1 คน สำหรับประเทศไทยเองก็พบว่ามีประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ในทุกกลุ่มอายุ

           จากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ว่าเด็กอ้วนมักเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน โดยที่เด็กโตอ้วน จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากกว่า จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพและโภชนาการใน ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 10-20% ของทารกที่อ้วนจะยังคงอ้วนในวัยเด็ก 40% ของเด็ก ที่อ้วนจะยังคงอ้วนในวัยรุ่น และ 75-80% ของวัยรุ่นที่อ้วนจะเป็นผู้ใหญ่อ้วน การป้องกันโรคอ้วน จึงนับเป็นงานที่จำเป็นและเร่งด่วน และควรป้องกันมิให้เป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็ก เพราะการป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนเท่ากับเป็นการลดจำนวนประชากรผู้ใหญ่อ้วน





            โรคอ้วนเมื่อเกิดขึ้นกับใครมักทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจได้ เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ ขาโก่ง เหนื่อยง่าย ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียด หรือมีปัญหาทางอารมณ์ และซึมเศร้า นอกจากนี้ในเด็กที่เป็นโรคอ้วนยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ดังนั้น โรคอ้วนจึงมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัวและสังคม ซึ่งนับเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัว การป้องกันการระบาดของโรคอ้วนจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

            สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมก็นับว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อย ค่านิยมของพ่อแม่ที่คิดว่าเด็กอ้วนสมบูรณ์เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารักน่าเอ็นดู รวมทั้งการสนับสนุนและต้องการให้ลูกเจริญอาหาร รับประทานให้มากและทานให้หมด ก็มีส่วนสนับสนุนให้เด็กอ้วนด้วย นอกจากนี้ลักษณะอาหารที่เด็กและครอบครัวเลือกรับประทาน ตลอดจนรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กอ้วนมากขึ้น จากการศึกษาและทบทวนเอกสารวิชาการสามารถสรุปลักษณะพฤติกรรมการบริโภค และวิถีชีวิต ตลอดจนลักษณะการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เด็กอ้วนหรือมีภาวะโ ภชนาการเกิน ได้ดังนี้
           วัยทารก เด็กที่ได้รับนมผสมจะมีโอกาสเกิดภาวะโภชนาการเกินมากกว่าเด็กที่ได้รับนมแม่ถึง 20% มารดาที่เลี้ยงทารกด้วยนมผสมมักให้ทารกดูดนมบ่อยและปริมาณมากเกินความต้องการ ซึ่งพบว่าเด็กที่ได้รับขวดนมใส่ปากทุกครั้งที่ร้องไห้หรือโยเย มีแนวโน้มที่จะมีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้มีรายงานว่าลักษณะการดูดนมของทารกมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย ทารกที่ดูดนมแรง เร็ว และแต่ละมื้อมีระยะเวลาในการดูดนมนานมีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าถึง 21% เมื่อเด็กอายุ 2 ปี เด็กที่ได้รับอาหารเสริมเร็วก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกิน




           วัยเด็กเล็ก เด็กวัยนี้นับเป็นวัยที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะโภชนาการเกินได้ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการเพียงพอที่จะเลือกอาหารที่มีคุณภาพให้กับร่างกาย พบว่าเด็กวัยนี้ ประมาณ 1 ใน 3 มักเลือกรับประทานอาหารที่ตัวเองชอบ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเองก็มักจัดหาอาหารที่เด็กชอบให้ทานเป็นประจำ อาหารที่เด็กวัยนี้ชอบมักเป็นอาหารที่มีรสหวาน รวมทั้งขนมกรุบกรอบ ไอศครีม คุ้กกี้ น้ำอัดลม น้ำหวาน ลูกอม นอกจากนี้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมักใช้ขนมหรืออาหารที่เด็กชอบเป็นรางวัลแก่เด็ก หรือเป็นสิ่งโน้มน้าวให้เด็กเชื่อฟังและปฏิบัติตาม โดยทั่วไปลักษณะบริโภคนิสัยของเด็กวัยนี้มักสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคของครอบครัว ถ้าครอบครัวใดชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง พลังงานสูง เด็กมักชอบและได้รับอาหาร ประเภทนั้นด้วย

          เด็กวัยเรียน จากการศึกษาพบว่าอาหารที่เด็กวัยนี้บริโภคส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว ก๊วยเตี๋ยว ขนมปัง เด็กวัยนี้ชอบรับประทานอาหารที่ปรุงโดยวิธีการทอดน้ำมัน รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น ไก่ทอด พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ อาหารมื้อหลักของเด็กวัยนี้ คืออาหารมื้อเย็นและมักมีปริมาณมากกว่ามื้ออื่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กมีเวลามากที่สุด นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ชอบรับประทานอาหารว่าง รวมทั้งอาหารว่างหลังมื้อเย็นหรือก่อนนอน โดยอาหารว่างของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ขนมกรุบกรอบ ขนมปัง ขนมหวาน น้ำแข็งใส ไอศครีม น้ำอัดลม ซึ่งจากลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวของเด็กวัยนี้ ทำให้เด็กมีโอกาส อ้วนได้ง่าย เด็กวัยนี้ยังได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณาต่างๆ เช่น โทรทัศน์ โปสเตอร์ รวมทั้งตัวแบบอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นอาหารหรือของกินเล่นบางอย่างโฆษณาโดยใช้เด็กเป็นตัวแบบ หรือดาราที่เด็กชื่นชอบซึ่งทำให้เด็กๆ ถูกโน้มน้าวมากขึ้น และต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เด็กวัยนี้ยังถูกชักจูงได้ง่ายจากรูปลักษณะภายนอกของอาหารที่พ่อค้าแม่ค้าทำให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยที่ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของอาหารเหล่านั้นคือแป้ง ไขมัน และเกลือ ซึ่งส่งเสริมให้เด็กอ้วนได้ง่ายและยังอาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง





             เด็กวัยรุ่น เด็กวัยนี้มักนิยมรับประทานอาหารตามแฟชั่น อาหารส่วนใหญ่ที่เด็กวัยนี้นิยมรับประทาน ได้แก่ อาหารจานด่วน อาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ อาหารว่างของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักเป็นขนมขบเคี้ยว โดนัท คุ้กกี้ น้ำอัดลม น้ำหวาน ซึ่งทำให้อ้วนได้ง่าย เด็กวัยนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่กับเพื่อน และเมื่อมีกิจกรรมใดๆ ก็มักใช้อาหารเป็นสื่อ ดังนั้นพฤติกรรมการบริโภคของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มเพื่อน รวมทั้งโฆษณาและสื่อต่างๆ

            จะเห็นว่าลักษณะพฤติกรรมการบริโภคและบริโภคนิสัยของเด็กรวมทั้งลักษณะการเลี้ยงดูมีส่วนส่งเสริมให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้ง่าย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดจนการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของคนปัจจุบันสุขสบายขึ้น มีเครื่องทุ่นแรงและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว เครื่องล้างจาน รวมทั้งอุปกรณ์สร้างความบันเทิง และผ่อนคลายความเครียด ได้แก่ โทรทัศน์ วิดีโอ ซีดี ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งล้วนแต่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ทำให้ใช้พลังงานลดลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวอาจเข้าใจผิดซื้อหาเกมส์คอมพิวเตอร์ หรือวิดีโอเกมส์ต่างๆ มาให้เด็กเล่น เพื่อต้องการให้เด็กเล่นอยู่กับบ้านและอยู่ในสายตา จึงมีส่วนทำให้เด็กมีกิจกรรมการออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวลดลง ซึ่งผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ถึง 5.3 เท่า ดังนั้น จึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ให้ลูกได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น


ปัจจัยก่อให้เกิดโรคอ้วน






สาเหตุสำคัญของโรคอ้วน
      เกิด จากอาหารการกิน กินมากแต่ใช้พลังงานน้อยกว่าที่ได้รับจากการรับประทานอาหาร พลังงานที่ได้จึงมากเกินความต้องการในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินไว้ในรูปไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

     1. กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อและแม่อ้วนทั้งคู่ ลูกจะมีโอกาสอ้วนถึงร้อยละ 80 แต่ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ้วน ดังนี้

    2. นิสัยจากการรับประทานอาหาร คนที่มีนิสัยการรับประทานอาหารไม่ดี หรือที่เรียกกันว่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา ก็ทำให้อ้วนขึ้นได้

    3. การไม่ออกกำลังกาย ถ้ารับประทานอาหารมากเกินพอดี แต่ออกกำลังกายบ้าง ก็อาจทำให้ยืดเวลาความอ้วน แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มากเกินพอดีแล้วนั่งๆ นอนๆ โดยไร้ซึ่งการยืดเส้นยืดสายในไม่ช้าก็จะเกิดการสะสมไขมันในร่างกาย

    4. อารมณ์และจิตใจ มีบางคนที่รับประทานอาหารตามอารมณ์และจิตใจ เช่น กินเพื่อดับความโกรธแค้น กลุ้มใจ กังวลใจ คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าอาหารทำให้ใจสงบ จึงยึดอาหารไว้เป็นสิ่งสร้างความสบายใจ แต่ในทางกลับกัน คนที่รู้สึกเสียใจ กลุ้มใจ กินอาหารไม่ได้ ถ้าในระยะเวลานานๆ ก็มีผลทำให้เกิดการขาดอาหารได้

    5. ความไม่สมดุลกับความรู้สึกอิ่ม ความหิว ความอยากอาหาร เมื่อใดที่ความอยากกินเพิ่มขึ้น การบริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจถึงขั้นกินจุ และในที่สุดก็จะทำให้เกิดความอ้วน

   6. เพศ ผู้หญิง อ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะโดยธรรมชาติมักสรรหาอาหารมากินได้ตลอดเวลา อีกทั้งผู้หญิงจะต้องตั้งครรภ์ ทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้น เพราะต้องกินอาหารมากขึ้นเพื่อบำรุงร่างกายและทารกในครรภ์ และหลังคลอดบุตรแล้วก็ไม่สามารถลดน้ำหนักลง ให้เท่ากับเมื่อก่อนตั้งครรภ์ได้

   7. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะอ้วนก็เพิ่มขึ้นทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้พลังงานน้อยลง

   8. กระบวนการทางเคมีที่เกิดกับร่างกาย

   9. ยา ผู้ป่วยบางโรคจะได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้อ้วนได้ และในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือใช้ยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน



ข้อมูลจาก

http://www.wiparatfood.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%A7/