วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

การรักษาและป้องกันโรคอ้วน



การรักษาโรคอ้วนโดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย



           จากข้อมูลที่นำเสนอแล้ว ชี้ใหัเห็นว่าพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคอ้วน ปัจจัยสำคัญทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือพลังงาน ทั้งหมดที่บริโภคและการออกกำลังกาย ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมเพื่อการลดน้ำหนักตัวลงได้ การรักษาเพื่อให้น้ำหนักตัวลดลงนั้นด้องทำให้เกิดดุลลบของพลังงาน คือ ปริมาณอาหารที่บริโภคเข้าไปเพื่อให้พลังงานนั้นต้องน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ ร่างกายจึงสามารถดึงเอาไขมันที่สะสมไว้มาเผาผลาญเป็นพลังงาน ดังนั้นหลักในการบำบัดโรคอ้วนคือ การควบคุมอาหารและ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การควบคุมอาหาร

           การควบคุมอาหารเพื่อการลดน้ำหนักในโรคอ้วนมีหลักการสำคัญดังนี้
ลดปริมาณพลังงานที่บริโภค -- คนที่กินอาหารมากต้องกินให้น้อยลง ซึ่งต้องปฏิบัติให้ได้เกินอยู่จึงจะลดลง คนปกติน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น ๑ กก. ถ้าได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น ๒๒ กิโลแคลอรี/กก. น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ๑๐ กก. ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ ๒๒๐ กิโลแคลอรี ดังนั้นคนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ๑๐ กก. ก็ต้องลดปริมาณอาหารที่บริโภคลงวันละ ๒๒๐ กิโลแคลอรี
ควรประเมินปริมาณพลังงาน -- ที่ผู้ป่วยบริโภคอยู่ก่อนมารับการลดน้ำหนัก ในรายที่ให้บริโภคอาหารน้อยลงกว่าเดิมวันละ ๕๐๐ กิโลแคลอรี น้ำหนักตัว จะลดลงได้ประมาณ ๐.๔๕ กก./สัปดาห์ ถ้าปฏิบัติได้จริงในช่วง ๑๐ เดือน จะลดได้ประมาณ ๑๘ กก. ดังนั้นจึงต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการลดน้ำหนักต้องใช้เวลา ไม่แนะนำให้ลดน้ำหนักโดยวิธีอดอาหาร เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี น้ำหนักลดได้จริงเมื่อใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่พอผู้ป่วยกลับบ้านจะอ้วนกลับมาใหม่ ถ้าหากจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ป่วยบริโภคอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่า ๑,๐๐๐ กิโลแคลอริ/วัน. ต้องระวังว่า ผู้ป่วยอาจเกิดการขาดวิตามินและเกลือแร่ได้ เพื่อความปลอดภัยในช่วงลดน้ำหนัก จึงควรให้ผู้ป่วยกินวิตามินและเกลือแร่ในรูปเม็ดยาที่ให้ปริมาณตามความต้องการของร่างกาย
จัดสัดส่วนของพลังงานอาหารที่บริโภคให้เหมาะสม -- เมื่อกินอาหารให้น้อยลง จะต้องระมัดระวังว่าอาหารนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการและยังมีความเอร็ดอร่อยที่ผู้ป่วยกินอาหารนั้นได้ การจัดสัดส่วนของพลังงานอาหารที่บริโภคให้เหมาะสม มีส่วนสำคัญทำให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ
โปรตีน -- ควรได้ร้อยละ ๒๐ ของพลังงานที่ได้รับ โปรเทอินกินต้องมีคุณภาพ เช่น ไข่, เนื้อสัตว์, ถั่วเหลือง, นม ในทางปฏิบัติเน้นให้ผู้ป่วยกินเนื้อไก่ เนื้อปลา ที่ไม่มีไขมันให้มากขึ้น เพื่อให้ได้โปรเทอินเพียงพอ เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนั้น ร้อยละ ๗๕ เป็นไขมัน ส่วนอีกร้อยละ ๒๕ เป็นโปรเทอิน เมื่อลดน้ำหนักตัวจะสูญเสียโปรเทอินด้วย
ไขมัน -- ควรจำกัดการบริโภคไขมันไม่ให้เกิน ร้อยละ ๓๐ ของพลังงานที่ได้รับ ทั้งนี้เพราะไขมันเป็นสารให้พลังงานสูงสุดถึง ๙ กิโลแคลอริ/กรัม นอกจากนี้ร่างกายยังมีขีดจำกัดในการเผาไขมันเป็นพลังงาน ควรใช้น้ำมัน ถั่วเหลืองในการปรุงอาหาร เพราะจะทำให้ได้รับกรดไขมันจำเป็นครบถ้วน คือ ทั้งกรดไลโนเลอิค และกรดแอลฟาไลโนเลอิค นอกจากนี้การบริโภคกรดไลโนเลอิค ในปริมาณ ร้อยละ ๗-๑๐ ของพลังงานที่ได้รับยังมีผลลดระดับ โคเลสเตอรอล ส่วนไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ
คาร์โบไฮเดรต -- ข้าว แป้งและน้ำตาลล้วนเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงาน ควรงดบริโภคน้ำอัดลมและน้ำหวาน ควรใช้น้ำตาลทราย ในการปรุงอาหารและเครื่องดื่มให้น้อยที่สุด เพราะอาหารเหล่านี้ให้แต่พลังงาน ถ้ายังติดในรสหวานก็ให้ใช้ แอสปาร์เทม ซึ่งเป็นสารรสหวานแต่ไม่ให้พลังงานแทนน้ำตาล สำหรับข้าวให้กินได้ แต่ถ้ากินมากต้องลดปริมาณลง
กินผักและผลไม้ -- ทุกมื้ออาหารควรมีผัก และผลไม้เพราะอาหารสองประเภทนี้นอกจากให้วิตามินและเกลือแร่ยังให้ใยอาหารด้วย ซึ่งทำให้ท้องไม่ผูก และมีความรู้สึกอิ่มไม่หิวบ่อย สำหรับผลไม้ไม่ควรกินพวกที่มีรสหวานจัดเช่น องุ่น ละมุด ทุเรียน ถ้ากินให้กินเป็นครั้งคราวเท่านั้น
การออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ -- การลดน้ำหนักจะได้ผลดีต่อเมื่อผู้นั้นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนต้องค่อยทำค่อยไป นับตั้งแต่เดินก็เป็นวิธีออกกำลังกายอย่างหนึ่ง การออกกำลังกายในแต่ละช่วงควรใช้เวลาประมาณ ๑๕-๔๕ นาที โดยทำต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งรู้สึกว่าเหนื่อยจึงพัก ในวันหนึ่งๆ ถ้ามีเวลาออกกำลังกายประมาณ วันละ ๑ ชั่วโมงจะดีมาก
การที่ผู้ป่วยจะลดน้ำหนักได้มากเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ป่วยและต้องติดตามนานพออย่างน้อย ๕ ปี จึงจะบอกได้ว่าผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักหรือไม่

การป้องกันโรคอ้วน

          ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรสนใจน้ำหนักตนเอง ควรรู้ว่าดัชนีความหนาของร่างกายสามารถใช้ประเมินโรคอ้วนทั้งตัวได้ ส่วนอัตราส่วนเส้นรอบเอวต่อ เส้นรอบตะโพกสามารถใช้ประเมินโรคอ้วนลงพุงได้ นำมาตรการทั้งสองนี้เฝ้าระวังตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วน หรือถ้าเกิดแล้วต้องรีบปรับตัวโดยบริโภคอาหารให้ น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการบริโภคไขมันร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องให้ความสนใจน้ำหนักตัวของผู้ป่วย กระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการและการออกกำลังกาย ต่อสุขภาพ และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อการบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการป้องกันโรคอ้วน
         โรคอ้วนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังประสบอยู่ ชาวไทยในเขตเมืองก็ประสบปัญหาโรคอ้วนเช่นเดียวกัน ดังนั้นการร่วมกันรณรงค์ป้องกันโรคอ้วน เสียแต่บัดนี้ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการลดปัญหาสาธารณสุขเนื่องจากโรคอ้วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต






ที่มา:วิชัย  ตันไพจิตร

          http://www.healthcarethai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น